กระโดงแดง ๒

Chionanthus microstigma (Gagnep.) P.S.Green

ชื่ออื่น ๆ
กระโดงแดงเขา (ประจวบคีรีขันธ์), ประดงแดง (ราชบุรี), ฝิ่น (นครราชสีมา), ฝิ่นต้น (ราชบุรี)
ไม้ต้น ใบเรียงตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก แผ่นใบหนา ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ก้านใบเมื่อแห้งสีดำ ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามง่ามใบดอกเป็นหลอดสีขาว ส่วนที่แยกเป็นแฉกยาวกว่าส่วนที่เป็นหลอด ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปกลมหรือรูปไข่

กระโดงแดงชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๘-๑๕ ม.

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๒.๔-๓.๖ ซม. ยาว ๗-๑๑ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ เส้นแขนงใบและเส้นใบเห็นไม่ชัด แผ่นใบหนา แข็ง ด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าก้านใบยาว ๓-๖ มม. เมื่อแห้งเปลี่ยนเป็นสีดำ

 ช่อดอกแบบช่อกระจะแยกแขนง ออกตามง่ามใบหรือตามกิ่งที่ใบร่วงไปแล้ว ยาว ๐.๘-๒.๕ ซม. มี ๓-๗ ดอก ใบประดับเล็กมาก ร่วงง่าย ดอกเล็ก สีขาว กลิ่นหอมอ่อนก้านดอกสั้น ยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันคล้ายรูปถ้วยปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กลีบดอก ยาวประมาณ ๕ มม. โคนติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ยาวกว่าหลอดกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๒ อัน ติดอยู่บนผนังกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้นกว่าอับเรณู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปกลมหรือรูปไข่ เส้นผ่าน ศูนย์กลาง ๑-๑.๔ ซม. มีเมล็ดใหญ่ แข็ง ๑ เมล็ด

 กระโดงแดงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นในป่าดิบแล้ง บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบแถบภูมิภาคอินโดจีน

 ใบเมื่อแห้งหมาดใช้มวนบุหรี่ มีกลิ่นหอมฉุน

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระโดงแดง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Chionanthus microstigma (Gagnep.) P.S.Green
ชื่อสกุล
Chionanthus
คำระบุชนิด
microstigma
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, François
- Green Peter Shaw
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, François (1866-1952)
- Green Peter Shaw (1920- )
ชื่ออื่น ๆ
กระโดงแดงเขา (ประจวบคีรีขันธ์), ประดงแดง (ราชบุรี), ฝิ่น (นครราชสีมา), ฝิ่นต้น (ราชบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข